
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังถูกกล่าวหาว่า “ไม่มีน้ำยา” คงจะทำให้สูญเสียความมั่นใจไปไม่น้อย บางคนอาจจะกำลังมองหาวิธีบำรุงอสุจิอยู่ ซึ่งคู่แต่งงานหลายคู่ที่พยายามมีลูกแต่ไม่มีสักที ร้อยละ 20-30 มีสาเหตุมาจากฝ่ายชาย
โดยปกติแล้วถ้าคู่แต่งงานที่ฝ่ายหญิงอายุน้อยกว่า 35 ปี มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมออาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ฝ่ายหญิงควรจะตั้งครรภ์ภายใน 12 เดือน หรือภายใน 6 เดือนถ้าฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี
แต่ถ้าเกินจากนี้แสดงว่าคู่ของคุณเข้าข่ายมีบุตรยากแล้ว ควรจูงมือกันไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากฝ่ายคุณผู้ชายเอง หรืออาจจะเกิดจากฝ่ายหญิง หรืออาจจะทั้งคู่ก็ได้
ปัญหาการมีลูกยาก
จากฝ่ายหญิง
เป็นไปได้หลายสาเหตุ เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เยื่อบุโพรงมดลูกหนาหรือบางเกินไป การมีเนื้องอกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูก การเป็นช็อกโกแล็ตซีสต์ การมีปัญหาด้านฮอร์โมน ทำให้ไข่ตั้งต้นมีน้อย ไข่ไม่ตก ไข่ไม่โต ไข่ไม่มีคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
จากฝ่ายชาย
แต่สำหรับสาเหตุการมีลูกยากของฝ่ายชายสาเหตุหลักเกิดจากปัญหาของคุณภาพน้ำเชื้อหรือน้ำเชื้ออ่อน ซึ่งคือที่มาของคำว่า “ไม่มีน้ำยา” นั่นเอง คุณผู้ชายที่สงสัยว่าตัวเองมีปัญหาคุณภาพน้ำเชื้อหรือไม่ สามารถไปตรวจได้ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ก่อนไปตรวจควรงดการหลั่ง 3-5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น การใส่กางเกงรัด โดยน้ำเชื้อที่มีคุณภาพจะต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในทุก ๆ ด้าน คือ
- ปริมาณ – น้ำเชื้อไม่น้อยกว่า 1.5 มล. ต่อการหลั่ง 1 ครั้ง
- ความเข้มข้น – ปริมาณความเข้มข้นของเชื้อไม่น้อยกว่า 15 ล้านตัว/มล. เพื่อให้มีปริมาณเหลือรอดมากพอ เพราะสภาวะในช่องคลอดอาจทำให้อสุจิตายไปบางส่วน
- การเคลื่อนที่ – จำนวนอสุจิที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าไม่น้อยกว่า 32% เพื่อให้สามารถวิ่งไปผสมกับไข่ได้
- รูปร่าง – จำนวนอสุจิที่รูปร่างปกติต้องไม่น้อยกว่า 4% เพราะธรรมชาติไข่จะไม่ยอมให้อสุจิที่รูปร่างผิดปกติเข้าผสม หรือหากทำการผสม อาจจะไม่เจริญต่อจนสมบูรณ์
อึดแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ ถ้าอสุจิไม่แข็งแรง
แค่ “อึด” อย่างเดียวคงยังไม่พอ เพราะต่อให้อึดแค่ไหน ก็มีลูกยากได้ ปัญหาคุณภาพน้ำเชื้อนั้น ส่วนน้อยมากที่จะเป็นมาแต่กำเนิด ส่วนมากแล้วจะมาเป็นทีหลัง ซึ่งอาจมาจากปัญหาสุขภาพ และเกิดจากพฤติกรรมของคุณผู้ชายเอง ดังต่อไปนี้
- ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ
- การเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน
- มีปัญหาบริเวณอวัยวะเพศเช่น อันฑะอักเสบ เนื้องอก ติดเชื้อ
- ผลข้างเคียงกับการใช้ยาบางอย่าง เช่น Glucocorticoid ในระยะยาว จะส่งผลทำให้ระดับฮอร์โมน Testosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายลดลง
- การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดสารพิษ และอนุมูลอิสระในร่างกาย ไปทำลายตัวเชื้ออสุจิ ทำให้ลดจำนวน หรือรูปร่างผิดปกติมากขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับบุหรี่ สามารถทำจำนวนเชื้อลดลง และแอลกอฮอล์ยังขัดขวางการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต้องการสร้างเชื้อที่แข็งแรง
- การขาดสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุที่ใช้ในการสร้างเชื้ออสุจิ
- การใส่กางเกงรัด การอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ
7 อาหารชั้นเลิศบำรุงอสุจิ
แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง ยังไม่สายเกินแก้ ปัญหาเชื้ออสุจิไม่แข็งแรงสามารถแก้ไขได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และทานอาหารที่บำรุงเชื้ออสุจิ เรามาดูกันว่ามีลูกยากกินอะไรดี
1. ซิงค์ หรือแร่ธาตุสังกะสี (Zinc)

ถ้าคู่ของคุณถูกวินิจฉัยว่ามีบุตรยากจากฝ่ายชาย ซิงค์จะเป็นอย่างแรกที่หมอจะสั่งจ่ายมาให้คุณกิน เพราะเรียกได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อระบบสืบพันธุ์เพศชายอย่างมาก
หากระดับซิงค์ในร่างกายต่ำเกินไป หรือได้รับไม่เพียงพอจากอาหาร จะส่งผลต่อปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และคุณภาพของน้ำเชื้อ
เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องใช้ซิงค์ในขั้นตอนของการสร้างเชื้ออสุจิ การรับประทานซิงค์จะช่วยให้ร่างกายของคุณปรับสมดุลฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และช่วยเพิ่มความเข้มข้นของน้ำเชื้อหรือเพิ่มจำนวนเชื้ออสุจิ แถมยังยังช่วยให้ตัวอสุจิเคลื่อนที่ไปข้างหน้ามากขึ้นอีกด้วย
โดยผู้ชายควรได้รับซิงค์วันละ 15 มิลลิกรัม อาหารที่เป็นแหล่งของซิงค์ เช่น หอยนางรม ตับ ปลาแซลมอน ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
2. แอล-อาร์จินีน (L-Arginine)

แอล-อาร์จินีนเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง พบมากในเนื้อแดง เนื้อสัตว์ปีก ปลา ถั่ว ธัญพืช และอาหารจำพวกนม
หลายคนอาจจะเคยเห็นแอล-อาร์จินีน ถูกใช้ในกลุ่ม ผู้ออกกำลังกาย เล่นกล้าม ซึ่งนั่นก็เป็นประโยชน์หนึ่งของแอล-อาร์จินีน
แต่ความจริงแล้วกรดอะมิโนมตัวนี้มีประโยชน์ที่สำคัญต่อระบบสืบพันธุ์เพศชายอย่างมาก เพราะมันทำให้คุณผู้ชายที่นกเขาไม่ขัน กลับมาฟิตปึ๋งปั๋งได้โดยไม่ต้องพึ่งยา แถมยังช่วยเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของเชื้ออสุจิ และเพิ่มการเคลื่อนที่ของเชื้ออสุจิได้อีกต่างหาก เรียกว่ายิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัวเลยทีเดียว
3. ซิลีเนียม (Selenium)

ชื่อนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไหร่ แต่ซิลีเนียมเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ที่มีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระสูงมาก (antioxidant) ทำให้ช่วยปกป้องอสุจิจากการถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ ที่เกิดจากสารพิษ จากการสูบบุหรี่ จากมลภาวะที่เราสัมผัสทุกวัน
ซึ่งอนุมูลอิสระมีผลต่อเชื้ออสุจิคือในผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากมักจะมีปริมาณซิลีเนียมในน้ำเชื้อต่ำ ซึ่งทำให้การสร้างเชื้ออสุจิมีความผิดปกติ รูปร่างไม่สมบูรณ์ อาหารที่มีซิลีเนียมสูง ได้แก่ อาหารทะเล เครื่องใน ถั่วบราซิล เมล็ดธัญพืช
4. วิตามินซี

วิตามินตัวนี้พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี วิตามินซีเองก็มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน มีงานวิจัยพบว่าการที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระสูง จะทำให้เกิดความเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress)
ซึ่งมีผลต่อเชื้ออสุจิอย่างมากคือ อนุมูลอิสระจะไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของตัวเชื้ออสุจิ ทำให้ตัวเชื้อเคลื่อนที่ได้น้อยลง และไม่สามารถเจาะไข่ได้
นอกจากนี้อนุมูลอิสระยังสามารถทำลาย DNA ของตัวเชื้อได้อีกด้วย ทำให้ DNA ของเชื้อเกิดความผิดปกติ ทำให้เมื่อเจาะไข่เข้าไปแล้วไม่เกิดการผสม หรือผสมแล้วตัวอ่อนไม่เจริญต่อ
การทานวิตามินซีเสริมในผู้ที่มีปัญหาคุณภาพน้ำเชื้อจึงเป็นการช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มทั้งจำนวนความเข้มข้นของเชื้อ การเคลื่อนที่ของเชื้อ และทำให้รูปร่างของอสุจิดีขึ้น
5. วิตามินบีรวม

วิตามินบีรวมเกี่ยวข้องกับแทบจะทุกระบบการทำงานของร่างกาย ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานจากสารอาหารต่าง ๆ และยังช่วยในระบบสืบพันธุ์อีกด้วย
โดยเฉพาะวิตามินบี 9 (กรดโฟลิก) และ วิตามินบี 12 จะช่วยเพิ่มคุณภาพอสุจิ โดยการเพิ่มจำนวนตัวอสุจิ เพิ่มการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ และลดความเสียหายของดีเอ็นเอของตัวอสุจิ
กระซิบบอกนิดนึงว่าคุณผู้ชายควรแบ่งวิตามินบี 9 ให้ภรรยาที่เตรียมตัวท้องกินด้วย และเมื่อตั้งท้องแล้วก็สามารถกินต่อได้ เพราะวิตามินบี 9 ช่วยในการสร้างตัวอ่อน และป้องกันลูกน้อยจากความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท อาหารที่มีวิตามินบี 9 สูง ได้แก่ ถั่ว และ ผักใบเขียวต่าง ๆ ส่วนอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูงได้แก่ เนื้อ ปลา ไข่ นม
7. โสม

อีกหนึ่งสุดยอดสมุนไพรบำรุงร่างกาย ที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน ในโสมมีสารสำคัญที่เราคงจะคุ้นหูกันดีที่เรียกว่า จินเซนโนไซด์ (Ginsenoside) ซึ่งไปช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำเชื้อ ทำให้ช่วยเพิ่มความเข็มข้นของอสุจิได้
ถ้าคุณผู้ชายหันมาบำรุงร่างกายด้วย 7 ตัวที่ช่วยกล่าวมา ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม งดบุดหรี่ งดแอลกอฮอล์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับรองว่าคุณจะกลับมามีน้ำยาได้ภายในไม่กี่เดือน
บทความแนะนำ:
6 วิธีแก้หลั่งเร็ว หายได้ เพียงแค่คุณทำตามนี้
อ้างอิง
- ธนัท จิรโชติชื่นทวีชัย. 2014. ภาวะการมีบุตรยากที่มีสาเหตุจากเพศชาย.
https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=907:male-infertility&catid=45&Itemid=561 - Ali Fallah et al. 2018. Zinc is an Essential Element for Male Fertility: A Review of Zn Roles in Men’s Health, Germination, Sperm Quality, and Fertilization. J Reprod Infertil. 2018 Apr-Jun; 19(2): 69–81.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6010824/ - Scibona M et al. 1994. L-arginine and male infertility. Minerva Urol Nefrol. 1994 Dec;46(4):251-3.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/7701414 - Bleau G et al. 1984. Semen selenium and human fertility. Fertil Steril. 1984 Dec;42(6):890-4.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/6500080 - Ahsan U et al. 2014. Role of selenium in male reproduction – a review. Anim Reprod Sci. 2014 Apr;146(1-2):55-62.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24613013 - Najafipour R et al. 2017. Effect of B9 and B12 vitamin intake on semen parameters and fertility of men with MTHFR polymorphisms. Andrology. 2017 Jul;5(4):704-710.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28440964 - Saleem Ali Banihani. 2017. Vitamin B12 and Semen Quality. Biomolecules. 2017 Jun; 7(2): 42.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5485731/ - Mohammed Akmal et al. 2006. Improvement in human semen quality after oral supplementation of vitamin C. J Med Food . Fall 2006;9(3):440-2.
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17004914/ - Azzawi Hadi et al. 2019. The effect of L-Arginine of treatment for infertile men on semen parameters. 24. 2019. 10.25130/tjps.24.2019.081.
https://www.researchgate.net/publication/335857043_The_effect_of_L-Arginine_of_treatment_for_infertile_men_on_semen_parameters - Kar Wah Leung and Alice ST Wong. 2013. Ginseng and male reproductive function. Spermatogenesis. 2013 Jul 1; 3(3): e26391.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3861174/