(Last Updated On: 21/07/2021)
โกรทฮอร์โมน

เพื่อน ๆ คงเคยได้ยินคำว่า โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) กันมาบ้างใช่มั้ยครับ เพราะเจ้าตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายของเราเจริญเติบโต แข็งแรง สมวัย เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อ หรือที่เรียกกันแบบติดปากว่า ‘น้ำพุแห่งความหนุ่มสาว’

ซึ่งโกรทฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่สำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในวัยเด็ก เพราะต้องการความเจริญเติบโตของกระดูกและร่างกายมากกว่าวัยไหน ๆ จนไปถึงช่วงอายุ 25 ปี ซึ่งถ้าได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมต่อการผลิต growth hormone ก็จะทำให้คนคนนั้นมีรูปร่างที่สมส่วน เติบโต สูงสมวัย ไม่แคระแกร็น มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ภูมิต้านทานดีเยี่ยม และช่วยในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง คงความหนุ่มสาวไว้ได้อย่างที่เราต้องการ

โกรทฮอร์โมน คือ

การทำงานของ โกรทฮอร์โมน

โกรทฮอร์โมน นั้นจะหลั่งออกมาไม่เท่ากันในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งโกรทฮอร์โมนจะหลั่งได้ตลอดชีวิต แต่ระดับการหลั่งในช่วงวัยที่กำลังต้องการการเจริญเติบโตหรือวัยเจริญพันธุ์ จะมากกว่าช่วงวัยอื่น และเมื่อพ้นวัย 30 ปีไปก็จะเริ่มลดน้อยลง โดยปกติแล้วจะมีปัจจัยอีกมากมายเลยล่ะที่จะสามารถส่งผลกระทบต่อโกรทฮอร์โมนของเราได้ ทั้งเรื่องของอาหารการกิน ความเครียด การพักผ่อนนอนหลับ การออกกำลังกาย รวมถึงน้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็ส่งผลต่อ โกรทฮอร์โมน เช่นกัน

โกรทฮอร์โมนจะถูกผลิตขึ้นในช่วงที่ร่างกายของเราได้รับการพักผ่อน ช่วงประมาณ 4 ทุ่มเป็นต้นไป

เพราะแบบนี้เองถึงได้มีการเตือนกันบ่อย ๆ ให้เด็กเข้านอนเร็ว ๆ หรือวัยรุ่น รวมถึงผู้ใหญ่ที่ร่างกายอ่อนเพลีย จะต้องได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งหลังจากหลับสนิทแล้ว ช่วงชั่วโมงแรก โกรทฮอร์โมนจะถูกส่งไปยังตับเพื่อเปลี่ยนเป็นสารที่สามารถนำไปใช้สร้างเนื้อเยื่อให้กับร่างกาย

มีงานวิจัยเกี่ยวกับโกรทฮอร์โมนในกระบวนการนี้ โดยทำการทดลองในคนอายุ 65 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับโกรทฮอร์โมน และ กลุ่มที่ไม่ได้รับโกรทฮอร์โมน ผลคือ กลุ่มที่ได้รับโกรทฮอร์โมนมีผมหงอกลดลง ใบหน้าและรอยเหี่ยวย่นต่าง ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีความฟิตในเรื่องบนเตียง ร่องรอยความแก่จางหายไป ร่างกายฟื้นฟูตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ ต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับโกรทฮอร์โมนโดยสิ้นเชิง

ขาด โกรทฮอร์โมน

โกรทฮอร์โมนลดลง มีผลกระทบต่อร่างกายยังไงบ้าง

อย่างที่บอกไปว่า โกรทฮอร์โมนจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ เมื่อพ้นวัยที่เราเติบโตเต็มที่ หรืออายุ 30 ปีเป็นต้นไป ซึ่งโกรทฮอร์โมนจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น หรือบางรายอาจจะไม่มีการหลั่งของโกรทฮอร์โมนออกมาเลยก็ได้ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็จะลดลง อ่อนแอลง และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นได้อย่างง่ายดาย ดังตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดเมื่อขาดโกรทฮอร์โมนไปก็คือ ความแก่จะเข้ามาเยือนนั่นเอง

เพราะเมื่อร่างกายของคนเราหลั่งโกรทฮอร์โมนน้อยลง ความชราก็จะแสดงให้เห็นมากขึ้น ทั้งผมขาว ผมหงอก แรงน้อย สมรรถภาพทางเพศถดถอย เหนื่อยง่าย ไม่กระฉับกระเฉง ไขมันเต็มร่างกาย กระดูกพรุน เริ่มมีโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ชัดให้เห็นว่าร่างกายของเรากำลังขาดโกรทฮอร์โมน

ประโยชน์ โกรทฮอร์โมน

Growth hormone ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ร่างกายได้ยังไงบ้าง

โกรทฮอร์โมนกับกล้ามเนื้อ

ทางด้านกล้ามเนื้อ โกรทฮอร์โมน จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแกร่งให้มากขึ้น ช่วยให้ร่างกายทนรับกับสภาวะความเหน็ดเหนื่อยได้มากขึ้น มีความอึดยิ่งขึ้น โดยมีวารสารทางการแพทย์ได้ทำการศึกษาในคนที่มีอายุ 60-80 ปี พบว่า โกรทฮอร์โมนสามารถลดไขมันได้ คนที่ได้รับโกรทฮอร์โมนจะช่วยเพิ่มขนาดและความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถใช้ชีวิตหนัก ๆ ทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเยอะ และใช้ชีวิตต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ออกกำลังกายได้นานขึ้น ทนต่อแรงกดดันจากการทำงานได้ดี

นอกจากนี้ โกรทฮอร์โมนยังช่วยให้ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอาการดีขึ้น จากที่ต้องนั่งรถเข็น อยู่แต่ในบ้าน ก็สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อ และใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ง่ายดายยิ่งกว่าเดิม มีอาการดีขึ้น ผู้สูงอายุจะสามารถขยับร่างกายได้ด้วยตัวเอง ช่วยป้องกันโรคข้อเสื่อม ยืนเองได้ เดินเองได้ โกรทฮอร์โมนช่วยบรรเทาอาการความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงในผู้สูงอายุ ฟื้นฟูโรคต่าง ๆ อีกทั้งยังป้องกันอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้อีกด้วย

โกรทฮอร์โมนกับกระดูก

โกรทฮอร์โมนสามารถช่วยในเรื่องของการต้านภาวะกระดูกพรุนได้อีกด้วย เนื่องจากฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกในร่างกายเรานั่นเอง โดยมีการทดสอบกับคนอายุ 23-66 ปี ที่มีการขาดโกรทฮอร์โมนอย่างมาก ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการให้โกรทฮอร์โมนกับกลุ่มทดลองเป็นเวลา 2 ปี ก็พบว่า มีความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มขึ้น โดยพบที่กระดูกไขสันหลัง กระดูกเชิงกราน มีแคลเซียมในกระดูกมากขึ้น ลดการแตกหักของกระดูกมากกว่าเดิม

โดยโกรทฮอร์โมนจะเข้าไปกระตุ้นเซลล์กระดูกให้ทำการสร้างตัวเองขึ้นมา อีกทั้งยังช่วยให้วิตามินบี 3 เข้าไปจับแคลเซียมเพื่อให้กระดูกแข็งแรง และป้องกันการแตกหักง่ายของกระดูกอีกด้วย

โกรทฮอร์โมนกับโรคหัวใจ

โกรทฮอร์โมนนอกจากจะช่วยในเรื่องของการพัฒนาร่างกายภายนอกแล้ว ยังช่วยป้องกันภายในให้เราอีกด้วย ซึ่งจะทำการกระตุ้นการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ซึ่งโกรทฮอร์โมนยังช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง ปรับสมดุลคอเลสเตอรอล ลดอาการของโรคหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจให้มากขึ้น ส่งผลให้โอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด

มีวารสารทางการแพทย์ค้นพบว่า สำหรับคนที่เสียชีวิตจากการวูบหมดสตินั้น หากได้รับ โกรทฮอร์โมน เพิ่มขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการนี้ได้ ซึ่งเจ้าโกรทฮอร์โมนนี้ยังช่วยป้องกันอาการเซลล์ตายหลังจากการวูบหมดสติ หรือหัวใจวายได้อีกด้วย

โกรทฮอร์โมนกับจิตใจ

โกรทฮอร์โมนเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่ช่วยปรับอารมณ์ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจของเรา ช่วยเพิ่มพลังงาน ทำให้เราสามารถนอนหลับได้แบบสนิทมากขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง เมื่อตื่นขึ้นมาก็รู้สึกสดชื่น แจ่มใส ร่างกายพร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องของการทำงาน การเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตนั่นเอง

นอกจากนี้ โกรทฮอร์โมนยังมีผลต่อสารสื่อประสาท เช่น เอนดอร์ฟิน ซึ่งมีฤทธิ์ระงับความปวด ลดระดับโดพามีน ที่มีผลต่อความรุนแรงของอารมณ์ และจากการศึกษายังพบอีกว่า โกรทฮอร์โมนช่วยในเรื่องความจำ ถ้าขาดโกรทฮอร์โมนไป จะทำให้ด้อยต่อการพัฒนา ทั้งความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว ประสาทตาจะทำงานแย่ลง และการใช้มือควบคู่กันไปก็จะไม่สัมพันธ์กัน

โกรทฮอร์โมนกับความสวยความงาม

มาถึงข้อดีของ โกรทฮอร์โมน ที่สาว ๆ อยากรู้มากที่สุดแล้ว ซึ่งโกรทฮอร์โมนจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว ทำให้ผิวเรียบเนียนเหมือนสมัยวัยรุ่น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดรอยเหี่ยวย่นบนผิวหน้าและร่างกาย ลดรอยตีนกา ช่วยฟื้นฟูให้ความสวยความงามกลับมาอีกครั้ง

โกรทฮอร์โมนกับสมรรถภาพทางเพศ

สิ่งที่ชายหนุ่มส่วนใหญ่สนใจเกี่ยวกับโกรทฮอร์โมน ก็เพราะมันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเรื่องบนเตียงได้เป็นอย่างดี โดยมีการศึกษาพบว่า คนที่ได้รับโกรทฮอร์โมนมากขึ้น จะมีสมรรถภาพทางเพศสูงขึ้นด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โกรทฮอร์โมนมีผลต่อเรื่องทางเพศได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ช่วยทำให้ชีวิตเซ็กส์มีความสุขและสร้างความมั่นใจได้เป็นอย่างดี

โกรทฮอร์โมนกับการทำงานของปอด

อย่างที่รู้กันดีว่า โกรทฮอร์โมนช่วยในเรื่องพลังงานของร่างกาย ความแข็งแรง เพิ่มความสามารถทำให้เราออกกำลังกายได้นานขึ้น ซึ่งทั้งหมดมันมาจากปอดนี่แหละครับ เพราะโกรทฮอร์โมนทำให้ปอดเราทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มอัตราการสูบฉีดเลือดของหัวใจ โดยมีการวิจัยพบว่า การเพิ่มโกรทฮอร์โมนให้กับคนที่มีปัญหาด้านการทำงานของปอด จะพบว่ามีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการหายใจดีขึ้น อาการเหนื่อยหอบลดลง คนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมีอาการดีขึ้น

โกรทฮอร์โมนกับการฟื้นฟูระบบภูมิต้านทานร่างกาย

โกรทฮอร์โมนจะเข้าไปซ่อมแซมระบบภูมิต้านทานร่างกายของเรา ปรับสมดุลให้หลั่งอินซูลินเพื่อกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อีกทั้งยังปรับสมดุลชีวเคมีในสมอง ช่วยป้องกันโรค โกรทฮอร์โมนมีผลกระทบต่อภูมิต้านทานในร่างกาย ถ้าใครไม่มีโกรทฮอร์โมน จะทำให้ไม่สบาย ผิวหนังเหี่ยวย่น และแก่ก่อนวัยอันควรอีกด้วย

โกรทฮอร์โมนกับการนอนหลับ

ร่างกายคนเราจะสามารถหลั่งโกรทฮอร์โมนได้เองตอนที่เรานอนหลับ แต่สำหรับคนที่มีปัญหาด้านการนอน เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือต้องอดนอนบ่อย ๆ นอนน้อย ร่างกายก็จะผลิตโกรทฮอร์โมนได้ไม่เต็มที่ ทำให้ตื่นนอนมารู้สึกไม่สดชื่น กระทบต่อการทำงานในเช้าถัดไป ซึ่งถ้าได้รับโกรทฮอร์โมนเพิ่มเติมก็จะทำให้หลับง่ายขึ้น

โกรทฮอร์โมนกับการมองเห็น

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาด้านสายตากันทั้งนั้นเลยนะครับ ที่เป็นแบบนี้เพราะร่างกายเสื่อมสภาพลงไปจากเดิมนั่นเอง รวมถึงเลนส์สายตาก็จะขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผู้สูงอายุมีสายตาที่เสื่อมถอยลงกว่าคนอายุ 20 ปีถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นการเพิ่มปริมาณโกรทฮอร์โมน จึงช่วยให้สายตากลับมาดีขึ้นได้อย่างง่ายดาย มีการมองเห็นที่ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้การใช้ชีวิตด้วยตัวเองกลับมาเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกครั้ง

โกรทฮอร์โมนกับการรักษาบาดแผล

มีการวิจัยพบว่า โกรทฮอร์โมนจะช่วยให้บาดแผลรักษาตัวเร็วขึ้น เพราะไปช่วยกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์คอลลาเจน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยฟื้นฟูบาดแผล สร้างเนื้อเยื่อให้ประสานกัน ทำให้เนื้อเยื่อแข็งแรงขึ้น ผิวหนังยืดหยุ่นได้ดี ทำให้บาดแผลหายเร็ว อีกทั้งยังฟื้นฟูการยึดติดของกระดูกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือประสบปัญหากระดูกหัก

นอกจากนี้ โกรทฮอร์โมนยังช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับบาดแผลจากการถูกไฟไหม้ และบาดแผลจากการผ่าตัดกลับมาสมานตัวกันได้เป็นอย่างดี แผลหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการฟื้นฟูกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว

โกรทฮอร์โมนกับความจำ

โกรทฮอร์โมน นั้นมีผลต่อความจำอย่างที่เราได้บอกไว้ข้างต้น โดยมีนักวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้ที่มีโกรทฮอร์โมนต่ำกว่าปกติจะสูญเสียความทรงจำระยะสั้นและระยะยาวไป อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมือและตาก็จะลดลง ทำให้การหยิบจับสิ่งของ รวมถึงการใช้ชีวิตกลายเป็นเรื่องยาก มีผลต่อ IQ ทำให้การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ลดประสิทธิภาพลง

ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการเสริมโกรทฮอร์โมน ทำผู้ป่วยมีอาการตื่นตัวมากขึ้น มีสมาธิ กระตือรือร้น จดจำดีขึ้น หลงลืมน้อยลง โต้ตอบกับสิ่งเร้าได้เร็วขึ้น และความทรงจำต่าง ๆ จะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติ

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่ได้ทำการเสริมโกรทฮอร์โมนให้กับเด็ก และพบว่าเด็กมีพัฒนาการ รวมถึงมี IQ สูงขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น รับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดี มีผลการเรียนที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพิ่มความจำ มีการคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้น

มีการเพิ่ม Growth hormone ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อม ผลคือ ระบบสมองทำงานได้ดีขึ้น และลดการสูญเสียเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี ทำให้กลับมามีชีวิตที่ปกติเหมือนเดิม

เพิ่มโกรทฮอร์โมน

ปรับตัวยังไง ถ้าอยากให้ร่างกายผลิต โกรทฮอร์โมน ให้มากขึ้นกว่าเดิม

อ่านถึงตรงนี้เพื่อน ๆ คงเข้าใจแล้วใช่มั้ยครับว่า โกรทฮอร์โมน มีความสำคัญกับร่างกายคนเรายังไงบ้าง ซึ่งมันช่วยให้ชีวิตเราง่ายและแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมมาก รวมถึงสร้างความมั่นใจให้การใช้ชีวิต ทั้งเรื่องภาพลักษณ์ที่คงความหนุ่มสาว และร่างกายที่กระฉับกระเฉง อีกทั้งสมองที่มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยเราสามารถสั่งให้ร่างกายผลิต Growth hormone ให้มากขึ้นกว่าเดิมได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย ๆ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  2. เลิกทานอาหารจานด่วน อาหารขยะที่มีน้ำตาลเยอะ ไขมัน และแป้ง รวมทั้งเลิกพฤติกรรมการกินอาหารกล่อง อาหารถุง อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแช่แข็งในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย
  3. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย ๆ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที
  4. เลิกดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดสูบบุหรี่
  5. เลิกกินยาด้วยตัวเอง ถ้ามีอาการเจ็บป่วยให้ปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยาทานเองโดยไม่จำเป็น เพราะยาเหล่านั้นคือเคมีที่จะเข้าไปทำลายตับและไตของเรา
  6. ลดความเครียดจากการทำงาน ผ่อนคลายจิตใจให้สบายด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ
  7. ทานอาหารเสริมที่ผ่านการวิจัยที่น่าเชื่อถือ เช่น แคลเซียมเพื่อเสริมกระดูก ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ผักใบเขียว ผลไม้สด เป็นต้น

หลังจากเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตได้ตามนี้ จะเห็นชัดเลยครับว่า ผิวพรรณของเราจะเปลี่ยนไป มีสุขภาพดี มีน้ำมีนวล ผิวเต่งตึง จิตใจแจ่มใส ไม่หดหู่ รวมถึงระบบขับถ่ายจะแข็งแรง สุขภาพดี ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายของเราสามารถผลิตโกรทฮอร์โมนขึ้นมาได้มากกว่าเดิมนั่นเอง

ประโยชน์ของโกรทฮอร์โมน หรือฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตนั้นมีอยู่มากมายเลยล่ะครับ ซึ่งถ้าเกิดเราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณของฮอร์โมนตัวนี้ได้ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุกลับมาเป็นวัยรุ่นได้อีกครั้ง ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ รวมถึงวัยรุ่นเองก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดี เพราะมีตัวช่วยในการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ปรับสมดุลให้คงที่ รับมือกับการทำงานในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้มีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ยืนยาว อย่างที่หลาย ๆ คนต้องการ นี่แหละครับประโยชน์และหน้าที่หลักของโกรทฮอร์โมน ที่เราควรให้ความสำคัญ