
ปวดเข่า เป็นอาการทั่วไปที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศทุกวัย ถ้าเป็นไม่มากอาจแค่ทำให้รู้สึกรำคาญ แต่หากปวดมากอาจส่งผลกระทบและทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันได้
อาการปวดเข่าไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น และยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การหกล้ม การใช้งานของหัวเข่ามากเกินไป หรือการเป็นเป็นโรคบางอย่างก็เป็นสาเหตุของอาการได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น โรคเก๊าท์ หรือโรคข้อเข่าเสื่อม ดังนั้นการค้นหาสาเหตุของอาการปวดเข่าให้แน่ชัด เป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาที่ถูกจุดในขั้นตอนต่อไป
ตำแหน่งและอาการที่ปวด บอกอะไรกับเราได้บ้าง
อาการปวดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าเป็นกรณีเรื้อรังหรือเฉียบพลัน ซึ่งเบื้องต้นเราสามารถแบ่งกลุ่มอาการของโรคออกตามลักษณะ ตำแหน่งที่ปวดได้ดังนี้

ปวดข้อเข่า ร่วมกับมีอาการเข่าบวม
อาจเกิดจากข้อเข่าอักเสบ ข้อเข่าเสื่อม, โรคเก๊าท์ หรือ รูมาตอยด์

ปวดเข่าด้านหน้า
อาจเกิดจากปัญหาที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกเกิดการดึงรั้ง หรือกล้ามเนื้อต้นขาด้านในอ่อนแรง แข็งแรงไม่เท่ากัน, ลูกสะบ้าเคลื่อนไม่ตรงเบ้าสะบ้า ทำให้หัวเข่าเกิดการเสียดสี มีอาการปวดแปล๊บ ๆ เวลาเดินลงน้ำหนัก ยืนนานแล้วปวด รวมถึงเวลางอเข่าหรือนั่งยอง ๆ แล้วปวดเข่าด้านหน้า

ปวดเข่าด้านใน (ด้านข้างส่วนใน)
อาจเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ Pes anserine ซึ่งทำหน้าที่ในการงอหัวเข่าและหมุนขาเข้าด้านใน เนื่องจากมีการใช้งานเข่ามากเกินไป, หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด (Miniscus tear) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นจากการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย หรือมีการบิดหมุนเข่าผิดท่า ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าหรือปวดบริเวณข้อพับได้, เคยเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณหัวเข่า หรือไม่ได้ทำการยืดกล้ามเนื้อที่เหมาะสมก่อนออกกำลังกาย ก็ส่งผลให้มีการเจ็บเข่าด้านในได้

ปวดเข่าด้านข้าง (ด้านข้างส่วนนอก)
เส้นเอ็นบริเวณข้างเข่าเกิดการอักเสบ จะรู้สึกปวดหรือเจ็บข้างเข่าด้านนอกร้าวขึ้นไปถึงต้นขาเวลาเดิน หรือวิ่งออกกำลังกาย สาเหตุมักจะเกิดจากการวิ่งเป็นเวลานาน หรือวิ่งลงน้ำหนักเท้าผิดท่า

เจ็บเข่าจี๊ด ๆ แปล๊บ ๆ
อาจเป็นโรคผิวกระดูกอ่อนลูกสะบ้าเข่าอักเสบ, ผิวสะบ้านิ่ม, ผิวลูกสะบ้าเสื่อม หรือ ข้อเข่าเสื่อมก็ได้
จากข้อมูลอาการปวดข้างต้นอาจคาดเดาได้เพียงสาเหตุคร่าว ๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ 100% ว่าเกิดจากอะไร ทางที่ดีควรไปพบแพทย์ซักถามประวัติ ประเมินอาการปวด เพื่อวินิจฉัยว่าเกิดจากอะไรจะดีที่สุด
ปวดเข่า สาเหตุเกิดจากอะไร

สาเหตุของอาการปวดเข่าจะแตกต่างกันไปและมักขึ้นอยู่กับประเภทของอาการปวด ซึ่งประเภทของอาการปวดนั้น แบ่งออกได้เป็นสามประเภทหลัก ๆ คือ
- เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกอ่อน เป็นอาการที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือการใช้งานหัวเข่าซ้ำ ๆ ส่งผลให้กระดูกอ่อนที่ข้อเข่า หรือกระดูกสะบ้าเกิดการเสียดสีสึกกร่อน
- เกิดการบาดเจ็บที่เส้นเอ็น อาจเกิดจากการกระตุก กระชาก ที่บริเวณหัวเข่าอย่างกะทันหัน เช่น ขณะออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรืออาการบาดเจ็บจากการหกล้ม อุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น
- เกิดการบาดเจ็บที่กระดูก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อต่อเกิดการสึกหรอ กระดูกหัก ข้ออักเสบ เป็นต้น
ซึ่งสาเหตุของอาการปวดเข่าอาจเกิดจากการบาดเจ็บหนึ่งหรือสองเงื่อนไขข้างต้นร่วมกันก็ได้ ดังนั้นหากคุณรู้ว่าอาการปวดของคุณเกิดการบาดเจ็บที่ส่วนไหนของข้อเข่า จะช่วยให้คุณระบุถึงโรคที่คุณเป็นได้ง่ายขึ้น ดังนี้
ข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ กรรมพันธุ์ การใช้ชีวิต การทำกิจกรรมที่มีการใช้งานหัวเข่าบ่อย ๆ หรือเมื่ออายุเพิ่มขึ้นหัวเข่าเกิดการใช้งานสะสมมากขึ้น รวมถึงโรคอ้วนก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากยิ่งขึ้น อาการปวดที่มักพบในข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความเสียหายของกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ บริเวณข้อต่อ ทำให้มีอาการปวดข้อเข่า
ในผู้ที่มีอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถลองใช้เทคนิคการดูแลตนเองเบื้องต้นก่อนที่จะไปพบแพทย์ได้ เช่น การใช้ถุงน้ำแข็งประคบเข่าครั้งละ 15 นาทีเมื่อมีอาการปวดเฉียบพลัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อข้อเข่า เช่น การนั่งไขว่ห้าง การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ รวมถึงการเดินหรือยืนนาน ๆ โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยค้ำยัน ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงได้
เส้นเอ็นอักเสบ
อาการปวดเข่าเอ็นอักเสบ ได้แก่ ปวด บวม ตึง อาจรู้สึกร้อนอุ่น ๆ ร่วมด้วย เอ็นอักเสบมักเกิดจากการทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ มากเกินไปหรือใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเป็นเวลานาน มักเกิดขึ้นกับนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ในบางกรณีอาจเกิดจากการที่บริเวณนั้นเคยเกิดการบาดเจ็บ หรือเคยได้รับการผ่าตัดก็ได้
โรคเก๊าท์
โรคเก๊าต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในข้อต่อ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปวดเข่าอย่างรุนแรง
โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือรอยแดง บวม และร้อนของข้อ อาจมีอาการปวดอย่างฉับพลันบริเวณข้อต่อข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ อาจมีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย
โรคเก๊าท์สามารถบรรเทาหรือรักษาโดยการใช้ยาลดระดับกรดยูริกในกระแสเลือด เช่น Allopurinol และใช้วิธีปรับการกิน โดยลดปริมาณอาหารที่ก่อให้เกิดกรดยูริกในกระแสเลือดสูง เช่น แอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ที่มีพิวรีนสูง (Purine)
หมอนรองกระดูกข้อเข่าเสื่อม
หลายคนมักมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าโรคหมอนรองกระดูกข้อเข่าเสื่อมนั้นเกิดขึ้นได้เฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงวัยทำงานก็สามารถเป็นได้ สามารถพบได้ตั้งแต่อายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป อาจจะเป็นการเสื่อม หรือการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกก็ได้ ส่งผลให้กระดูกข้อเข่าเกิดการเสียดสี ทำให้มีอาการปวดหัวเข่า เจ็บเข่า ข้อติดขัดเวลาเคลื่อนไหว หรือขยับหัวเข่า
วิธีการรักษาอาจเริ่มด้วยการทานยาพร้อมกับการทำกายภาพบำบัด ฉีดยา หากยังไม่ดีขึ้นก็จะใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้องในการรักษา
เข่าอักเสบจากการเล่นกีฬา
ข้อเข่าอักเสบเป็นภาวะที่หัวเข่าเกิดอาการปวด บวมแดง พบได้บ่อยในผู้ที่เล่นกีฬาหรือผู้ออกกำลังกาย เช่น นักวิ่งมาราธอน นักกระโดดไกล เป็นต้น เกิดจากการใช้งานหัวเข่าที่มากเกินไป รวมถึงการกระแทกที่หัวเข่าซ้ำ ๆ เป็นประจำ ในช่วงแรกจะเริ่มรู้สึกปวดเข่าขณะทำกิจกรรม แต่หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการอักเสบก็จะเริ่มเรื้อรังจนนำไปสู่อาการข้อเข่าเสื่อมได้
แนวทางการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ กรณีที่ยังเป็นไม่มากสามารถรักษาได้ด้วยการพักการใช้หัวเข่า การประคบเย็น ประคบร้อน และการทานยาแก้อักเสบ สำหรับกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้น อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวเข่า
วิธีรักษาอาการปวดเข่า
วิธีแก้อาการปวดเข่าทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ
อาจเป็นวิธีง่าย ๆ เช่น การทานยาแก้ปวด ประคบเย็น ประคบร้อน พักการใช้งานหัวเข่า หรือออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่า ไปจนถึงการผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยหาสาเหตุของการปวดเข่าที่เป็นไปได้ เพื่อกำหนดวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม
รักษาแบบไม่ใช้ยา
กรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก หรือเป็นการปวดเข่าแบบเฉียบพลัน ชั่วคราว อาจใช้วิธีรักษาทางกายภาพ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องทานยา เช่น
- การประคบเย็น จะใช้บรรเทาอาการปวดในระยะอักเสบ คือบริเวณเข่ามีอาการปวด บวม อุ่นหรือร้อนมากกว่าปกติ มักจะใช้หลังประสบอุบัติเหตุ หรือหลังบาดเจ็บใหม่ ๆ ไม่เกิน 48 ชั่วโมง โดยความเย็นจะช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยลดการบวมแดง และการอักเสบได้ ใช้เวลาประคบประมาณ 20-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
- การประคบร้อน การประคบร้อนหรืออุ่น เป็นการบรรเทาอาการปวดเช่นเดียวกัน แต่จะใช้กับอาการปวดอักเสบเรื้อรังโดยเฉพาะกับเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ใช้หลังประสบอุบัติเหตุ หรือหลังบาดเจ็บนานแล้ว โดยอาการปวดจะเป็นลักษณะ ปวดหน่วง ๆ ตึง ๆ ไม่มีอาการบวม การประคบร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว เลือดหมุนเวียนดีขึ้น และอาการปวดบรรเทาลง ใช้เวลาประคบประมาณ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ระวังอย่าให้อุณหภูมิสูงเกินไป และการประคบนานเกินไป เพื่อป้องกันอาการแสบร้อนบริเวณผิวหนัง
- การออกกำลังกาย การออกกำลังกายสามารถบรรเทาอาการปวดเข่าได้ โดยอาจใช้วิธีออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ไม่ตึงปวด หรือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก การเพิ่มกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาจะช่วยแบ่งเบาลดภาระการทำงานของข้อเข่า
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงบันไดเมื่อเป็นไปได้ หรือการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือขณะเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน เป็นต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกายลดน้ำหนัก ในบางกรณีอาจรวมถึงการไม่เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายจนกว่าอาการปวดเข่าจะหายไป
รักษาด้วยการทานยา
อาการปวดเข่าเป็นปัญหาที่ส่งผลให้การทำกิจวัตรประจำวันนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยาอาจเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายและง่ายที่สุด
ปวดเข่า กินยาอะไรดี? ถ้าพูดถึงยาแก้ปวดเข่านั้นมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ
- ยาต้านการอักเสบ สามารถลดอาการบวมและการอักเสบได้
- ยาแก้ปวด ช่วยลด บรรเทาอาการปวด
มียาหลายชนิดที่สามารถใช้รักษาอาการปวดเข่าได้ ตัวอย่างเช่น Acetaminophen ช่วยบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางที่เกิดจากการอักเสบหรือกล้ามเนื้อกระตุก ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือนาโพรเซน อาจถูกนำมาใช้ในกรณีที่มีการอักเสบและปวดที่รุนแรงขึ้น ยาเหล่านี้อาจช่วยลดอาการบวมหรือลดไข้ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ หรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกบริเวณข้อเข่า
แม้การใช้ยารักษาอาการปวดเข่าจะเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก แต่ก็อาจไม่ได้ผลเสมอไป และอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมา จึงมีการวิจัยสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือกในการรักษา หนึ่งในนั้นคือ การทานคอลลาเจนไทพ์ ทู ซึ่งมีผลการทดลองแล้วด้วยว่าช่วยลดอาการปวดเข่าได้ดีกว่ายา (กลูโคซามีน) แถมยังปลอดภัยกว่าด้วย
รักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการปวดเข่า มีอัตราความสำเร็จสูงมาก (ประมาณ 95%) แต่ก็มีราคาแพงและมีผลข้างเคียงได้ ดังนั้นควรใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายจริง ๆ
การผ่าตัด เหมาะกับอาการปวดที่รุนแรงมาก หรือมีสาเหตุมาจากความเสียหายของเส้นเอ็น กระดูกอ่อน ข้อเข่า ที่หากไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไขอย่างเร่งด่วน อาจส่งผลต่อสุขภาพการใช้ชีวิตไปตลอดชีวิตได้
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นขั้นตอนการผ่าตัดที่เอากระดูก หรือกระดูกอ่อนที่เสียหายออก และแทนที่ด้วยส่วนประกอบที่เป็นโลหะและพลาสติก อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าอย่างรุนแรงจากโรคข้ออักเสบ อาการบาดเจ็บ หรืออาการอื่น ๆ ที่ทำให้ข้อเสื่อมมากขึ้นหากปล่อยทิ้งเอาไว้
การผ่าตัดหัวเข่านั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมจากการวินิจฉัยของแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น Quadricepsplasty การผ่าตัดกล้ามเนื้อ Quadriceps เพื่อช่วยในการงอเข่า, Medial Patellofemoral Ligament Reconstruction (MPFL) การรักษาผู้ป่วยกระดูกสะบ้าหัวเข่าเคลื่อนหลุด, Knee Arthroplasty การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งคุณสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากลิงค์นี้เลยครับ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
วิธีป้องกันอาการปวดเข่า
นอกจากจากการรักษาแล้ว วิธีป้องกันก็มีความจำเป็น เพราะหากคุณป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ โอกาสที่เกิดก็จะลดน้อยลง หรือในผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วจะได้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งวิธีป้องกันนั้นมีหลายวิธี ดังนี้
ไม่ใช้งานหัวเข่ามากเกินไป
สาเหตุของการปวดเข่าที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง คือ อาการบาดเจ็บจากการใช้งานเข่ามากเกินไป เนื่องจากเมื่อมีการใช้งานซ้ำ ๆ จะเกิดแรงกดบนกระดูกสะบ้าหัวเข่าและเนื้อเยื่อรอบข้างบ่อยครั้ง หรือเป็นผลมาจากการบิด การหมุนหัวเข่า หรือกระโดดมากเกินไป ซึ่งสามารถป้องกันอาการปวดเข่าจากสาเหตุนี้ได้โดยการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี สวมอุปกรณ์ป้องกันลดแรงกระแทก มีช่วงเวลาในการพักการใช้งานของข้อเข่าบ้าง หยุดการใช้งานหรือรีบรักษาเมื่อมีอาการผิดปกติ ไม่ปล่อยให้เป็นหนักจนเรื้อรัง
ควบคุมน้ำหนัก
เป็นอีกวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอาการปวดเข่า การรักษาน้ำหนักตัวให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้น้ำหนักตัวสูงเกินไป เนื่องจากโรคอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่ปัญหาข้อต่อตลอดชีวิต การลดน้ำหนักเพียง 10% ของน้ำหนักตัวสามารถลดอาการปวดในผู้ที่มีน้ำหนักเกินได้ถึง 30%
ออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขา
อีกวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงอาการปวดเข่าคือการเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขาด้วยการออกกำลังกาย เช่น ท่าสควอท บริหารด้วยท่าย่อขา หรือเหยียดขาตรง ยิ่งกล้ามเนื้อส่วนนี้แข็งแรงมากเท่าไร ก็ยิ่งสามารถช่วยรองรับกระดูกสะบ้าหัวเข่าของคุณได้ดีขึ้นและช่วยลดแรงกระแทกได้
วอร์มอัพก่อนออกกำลังกาย
การยืดข้อต่อก่อนและหลังออกกำลังกายก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บของข้อต่อ สามารถวอร์มร่างกายก่อนที่จะเริ่มด้วยการเขย่า สะบัดขาเบา ๆ หรือออกกำลังกายเบา ๆ ก่อนก็ได้
การสวมรองเท้าให้เหมาะสม
ใครจะไปคิดว่ารองเท้าจะสามารถช่วยปกป้องข้อเข่าของคุณจากการใช้งานได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การสวมรองเท้าให้เหมาะสมกับการเล่นกีฬา เช่น รองเท้าสำหรับการวิ่ง หรือรองเท้าสำหรับการเล่นฟุตบอล เป็นต้น การสวมรองเท้าเหล่านี้จะช่วยลดแรงกระแทกข้อเข่าและข้อเท้าของคุณ หรือหากคุณเดินโดยสวมรองเท้าส้นสูงมากเกินไป กล้ามเนื้อน่องของคุณจะเกิดอาการตึงอยู่ตลอดซึ่งนั้นอาจนำไปสู่อาการปวดเข่าได้
การรับประทานอาหารเสริม
อาหารเสริมก็เป็นวิธีที่ง่ายอีกวิธีหนึ่งเปรียบเสมือนการใช้เงินซื้อความสะดวกสบายในการดูแลสุขภาพกระดูก และข้อต่อของคุณ
โดยอาหารเสริมที่นิยมทานกันนั้นก็คือ Collagen type 2 ที่สามารถช่วยบำรุงเข่า บรรเทาอาการปวดเข่าได้ หรือจะเป็นแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง การรับประทานแคลเซียมที่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน จะช่วยให้กระดูกและฟันของคุณแข็งแรง ไม่สึกกร่อน ไม่เป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูล วิธีกินแคลเซียม ยังไงให้ได้ประโยชน์สูงสุดมาไว้ให้แล้ว จะได้ไม่กินกันแบบผิด ๆ โดยไม่รู้ตัวครับ