(Last Updated On: 01/11/2021)
ลดไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือด ด้วย ไฟโตสเตอรอล

ไขมันในเลือดสูง หรือ คอเลสเตอรอลสูง เป็นภาวะที่คนไทยเป็นกันเยอะมาก ๆ และมีแนวโน้มจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิต ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบกินหมูกระทะชาบู โดยเฉพาะส่วนของสามชั้น และสันคอ ชอบกินขนมหวาน เบเกอรี่ ชอบกินไก่ทอด เฟรนฟรายส์ ชอบกินชานมไข่มุก น้ำอัดลม และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ต้องขอบอกว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการมีไขมันในเลือดสูง

ความน่ากลัวของมันคือเราจะไม่มีทางรู้เลยจนกว่าจะทำการตรวจเลือด

ทำให้บางคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองมี ไขมันในเลือดสูง คนที่ผอมน้ำหนักไม่เกินมาตรฐานใช่ว่าจะไม่เป็น ส่วนคนอ้วนน้ำหนักเกินก็ใช่ว่าจะเป็นเสมอไป หรือบางคนอาจจะรู้ตัวแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก เพราะไม่แสดงอาการใด ๆ ที่ทำให้รู้สึกหรือกระทบกับชีวิตประจำวัน ทำให้ละเลยไม่ได้พยายามที่จะลดไขมันเลือดอย่างจริงจัง ปล่อยไว้จนสายเกินแก้

ไขมันในเลือดสูงคืออะไร ?

ไขมันในเลือดทั้ง 3 ชนิด

เราสามารถแบ่งไขมันในเลือดได้เป็น 3 ชนิดคือ

HDL-Cholesterol ไขมันดี

1. ไขมันดี HDL

HDL-Cholesterol (High Density Lipoprotein-Cholesterol : HDL-C) ทำหน้าที่พาคอเลสเตอรอลไปกำจัด และไปใช้ที่ตับ ป้องกันคอเลสเตอรอลเกาะตามผนังเส้นเลือด ดังนั้นยิ่งมีเยอะ ยิ่งดี ควรมี HDL-C ในเลือดไม่น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

LDL-Cholesterol ไขมันไม่ดี

2. ไขมันไม่ดี LDL

LDL-Cholesterol (Low Density Lipoprotein-Cholesterol : LDL-C) ถ้าในเลือดมี LDL-C เยอะ จะเกาะตามผนังเส้นเลือด เป็นสาเหตุของเส้นเลือดอุดตัน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด LDL-C ในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ไตรกรีเซอไรด์ Triglyceride

3. ไขมันไตรกลีเซอไรด์

Triglyceride เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยได้รับจากอาหารประเภทไขมันโดยตรง และร่างกายสร้างขึ้นเองจากการทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ไขมันในเลือดสูง คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันที่อยู่ในเลือดสูงเกินจากค่าปกติ ซึ่งไขมันที่เกินนี้อาจเป็นคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ก็ได้ เราไม่ควรมีคอเลสเตอรอลรวมในเลือดเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยมี LDL ไม่เกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และไตรกลีเซอไรด์ไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

การที่มีไขมันในเลือดสูงมาก ๆ จะทำให้ไขมันไปเกาะตามผนังเส้นเลือด เส้นเลือดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น เลือดหมุนเวียนไม่ดี หัวใจต้องทำงานหนักมากเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิต เช่น ทำให้เป็นโรคความดันสูง เลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองไม่เพียงพอ ทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

เราจะช่วยร่างกายลดไขมันในเลือดได้อย่างไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไขมันในเลือดมาจาก 2 แหล่งคือ

  1. อาหารที่เรารับประทานเข้าไป
  2. ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง

หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันไม่ดีไม่ใช่เหรอ ทำไมร่างกายต้องสร้างขึ้นมาด้วยล่ะ? ต้องขอตอบว่า ความจริงแล้วร่างกายมีความจำเป็นต้องใช้คอเลสเตอรอล ถึงเราไม่ได้กินเข้าไป ร่างกายก็จะสร้างขึ้นมาเองอยู่ดี ส่วนมากสร้างขึ้นที่ตับเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ สร้างเยื่อสมอง ใช้ในการผลิตสเตอรอยด์ฮอร์โมนที่เป็นฮอร์โมนเพศทั้งเพศชายและเพศหญิงอย่างเทสโทสเตอโรน และเอสโตรเจน ที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ใช้ในการสังเคราะห์น้ำดี สังเคราะห์วิตามินดี เป็นต้น

ดังนั้นถ้ามีคอเลสเตอรอลในปริมาณพอดี ๆ กับที่ร่างกายต้องการก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ปัญหาคือเรามักจะได้รับคอเลสเตอรอลเกินความจำเป็นจากอาหารที่รับประทาน คือมากกว่าวันละ 300 มิลลิกรัม ซึ่งการเป็นการเพิ่มคอเลสเตอรอลเข้าไปโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง มักจะทำให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ

ส่วนไตรกลีเซอไรด์เอง ก็เป็นไขมันที่ร่างกายเก็บสะสมไว้คอยให้พลังงาน และยังช่วยในการดูดซึมวิตามินบางตัว ซึ่งร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้เช่นกัน จากการทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

มาถึงตรงนี้หลายคนน่าจะนึกออกแล้วว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระร่างกายได้อย่างไร ในส่วนของไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง เราคงไปควบคุมอะไรไม่ได้มาก แต่ส่วนที่เราจะช่วยได้เต็ม ๆ นั่นก็คือการช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลจากอาหารที่จะเข้าสู่ร่างกายให้น้อยลงนั่นเอง โดยการเลือกและควบคุมอาหาร แต่อย่างว่าแหละ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดใจจากอาหารจานโปรดแสนอร่อย ถ้ามันง่ายพวกเราคงทำกันไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีความโชคดีอยู่ ที่มีการค้นพบตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น คือ

ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol) ทำหน้าที่ช่วยขัดขวางและลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารที่ลำไส้ของคุณได้

ไฟโตสเตอรอล คืออะไร ? ช่วยลดคอเลสเตอรอล ไขมันในเลือดสูง ได้จริงหรือ ?

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1970 ประเทศฟินแลนด์เคยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงที่สุดในโลก

ซึ่งสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจและหลอดเลือดคือการมีไขมันในเลือดสูง รัฐบาลของฟินแลนด์จึงได้ร่วมมือกับเอกชนเพื่อทำการวิจัยหาสิ่งที่จะมาช่วยลดคอเลสเตอรอลหรือช่วยลดไขมันในเลือด จนกระทั่งได้ค้นพบว่าการกินไฟโตสเตอรอลเป็นประจำช่วยลดไขมันในเลือดได้

โดยในขณะนั้น ได้ทดลองทำผลิตภัณฑ์ทาขนมปังที่ผสมไฟโตสเตอรอลออกจำหน่าย และทำแบบสำรวจสุขภาพ พบว่ากลุ่มประชาชนที่ทานผลิตภัณฑ์ผสมไฟโตสเตอรอล มีแนวโน้มที่จะมีไขมันในเลือดลดลง ส่งผลให้ 25 ปีถัดมา ประเทศฟินแลนด์มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งประเทศลดลงถึง 65% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.1970

ปัจจุบันไฟโตสเตอรอลจึงเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่า “ช่วยลดคอเลสเตอรอล และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด”

ไฟโตสเตอรอล เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญที่สกัดได้จากพืชเท่านั้น พบมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดองุ่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด

ไฟโตสเตอรอลมีโครงสร้างหน้าตาคล้ายกับคอเลสเตอรอล จึงถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแทนคอเลสเตอรอล และตัวไฟโตสเตอรอลนั้นไม่มีโทษต่อร่างกาย

ทำไมไฟโตสเตอรอลถึงช่วยลดไขมันในเลือดได้ ?

ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล ด้วยไฟโตสเตอรอล

ในการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่ลำไส้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ คอเลสเตอรอลจะเข้าสู่ลำไส้ได้ง่าย ๆ จะต้องมี “ตัวพา” เข้าไป

แต่ตามที่เล่าไปแล้วข้างต้นว่าไฟโตสเตอรอลมีหน้าตาคล้ายกับคอเลสเตอรอล ทำให้เกิดการ “แข่งขัน” แย่งกันจับกับ “ตัวพา” ในการดูดซึม

ไฟโตสเตอรอลจะขัดขวางทำให้ร่างกายเราดูดซึมคอเลสเตอรอล ลดลงถึง 30-50%

ส่วนที่ไม่ดูดซึมก็ถูกพานำไปขับถ่ายทางอุจจาระมากขึ้น เมื่อร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารลดลง แต่ร่างกายยังมีการใช้งานคอเลสเตอรอลอยู่ ทำให้ในระยะยาว คอเลสเตอรอลรวมในเลือดจึงลดลงไปด้วย

เราจะหาไฟโตสเตอรอลทานได้จากที่ไหน ?

ไฟโตสเตอรอล เป็นสารกลุ่มสเตอรอลที่พบได้ในพืชเท่านั้น ซึ่งจะมีมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันเมล็ดองุ่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก พบในเมล็ดธัญพืชที่มีน้ำมัน เช่น ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดงา และพบเล็กน้อยในผักใบเขียว เช่น ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง

แต่การที่คุณจะได้รับไฟโตสเตอรอลในปริมาณที่มากพอที่จะเริ่มเห็นผลในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด คุณจำเป็นต้องกินหม่อไม้ฝรั่งวันละ 2.5 กิโลกรัม หรือ ผักกาดขาววันละ 1.5 กิโลกรัม หรือ น้ำมันถั่วเหลืองวันละ 200 มิลลิลิตรเลยทีเดียว

ในปัจจุบันเริ่มมีสินค้าที่ผสมไฟโตสเตอรอลออกมาให้ผู้บริโภคเลือกกินอย่างแพร่หลาย และหลากหลายมากขึ้น เช่น ในรูปของเครื่องดื่มผสมไฟโตสเตอรอล ผลิตภัณฑ์ทาขนมปังผสมไฟโตสเตอรอล หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบแคปซูลมีไฟโตสเตอรอลเข้มข้นและสะดวกในการกินมากขึ้น ทำให้คุณไม่ต้องไปหาผัก ผลไม้มากินเป็นกิโล ๆ เพื่อที่จะลดไขมันในเลือด ตอนนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วว่าจะเลือกทางไหน

อ้างอิง

  1. World Health Organization (WHO). Chronic disease and health promotion.
    https://www.who.int/chp/about/integrated_cd/index2.html
  2. CE. Cabral and MRS. Torres Klein. 2017. Phytosterols in the Treatment of Hypercholesterolemia and Prevention of Cardiovascular Diseases. Arq Bras Cardiol. 2017 Nov; 109(5): 475–482.
    https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5729784/
  3. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2557. คอเลสเตอรอลและกรดไขมันในอาหารไทย.
    http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/cholesterol_n.pdf
  4. Rouyanne T Ras et al. 2014. LDL-cholesterol-lowering effect of plant sterols and stanols across different dose ranges: a meta-analysis of randomised controlled studies. Br J Nutr 2014 Jul 28;112(2):214-9.
    https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24780090/